วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

กระเต็นปักหลัก รอรัก(ษ์)ที่ริมกก

ในหมวดนกที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำนั้น กลุ่มนกกระเต็นถือว่าเป็นนกที่มีเสน่ห์ทั้งรูปทรงสีสันที่สวยงามและพฤติกรรมที่น่าสนใจ

นกกระเต็นอีกชนิดที่พบได้บ่อยและเห็นภาพบ่อยๆจากแถบภาคกลางคือนกกระเต็นปักหลัก (Pied Kingfisher) ผมเองก็เคยมีโอกาสเดินทางไปดูที่อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา แต่รอบที่ไปคราวนั้นนกอยู่ไกลและถ่ายภาพแทบไม่ได้เลย

เมื่อราวเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่ตามถ่ายนกคัคคูขาวดำ (Pied Cuckoo) บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผมก็ได้ยินเสียงนกกระเต็นปักหลัก แต่ไม่ทันได้เห็นตัว ขณะที่ป้าหล้านักถ่ายภาพอีกคนได้เห็นนกชนิดนี้บินผ่านไปในระยะไกลซึ่งก็ช่วยยืนยันแน่นอนว่าแม่น้ำกกมีนกกระเต็นปักหลักอาศัยอยู่

หลังจากนั้นก็พยายามดูตามแม่น้ำกกอยู่ตลอดเวลาถ้ามีโอกาสเผื่อได้ถ่ายภาพนกในระยะใกล้ๆมั่ง จนแล้วจนรอดก็หาตัวไม่เจอ เพื่อนนักดูนกและถ่ายภาพเจอที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ตามไปดูหลายรอบแต่ก็ถ่ายภาพไม่ได้เลย

จริงๆแล้วมีรายงานการพบนกชนิดนี้อยู่ตามแหล่งน้ำอำเภอเชียงแสนหลายแห่ง รวมทั้งพื้นที่อนุรักษ์นกและธรรมชาติน้ำคำของหมอหม่องด้วย แต่ผมก็ไม่เคยเจอ

จนกระทั่งวันที่ 20 พฤศิกายน 2553 ผมได้มีโอกาสไปดูนกแถวริมแม่น้ำกกบริเวณเดิมอีกครั้ง ริมแม่กกเป็นไร่ข้าวโพดผมเดินลัดไร่ข้าวโพดไปยังริมแม่น้ำเผื่อเจอนกริมแม่น้ำสักตัวสองตัว ใจก็หวังว่าจะเจอกระเต็นปักหลักมั่ง

เหลือเชื่อครับ ผมกวาดสายตาไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำกก เห็นจุดเล็กๆสีขาวด่างๆ คิดว่าเป็นเศษถุงพลาสติก แต่พอส่องกล้องสองตาดูแล้วเหลือเชื่อเป็นสองเท่า

นั่นมันนกกระเต็นปักหลักสามตัว !!!

ถ่ายภาพได้พอเป็นหลักฐานแล้ว ผมก็เดินฝ่าดงอ้อ เพื่อสำรวจ "หลัก" เหมาะๆที่คิดว่านกจะมาเกาะในบริเวณที่ใกล้เคียง ก็เจอและเฝ้าหลักกิ่งไม้แห้งนั้นอยู่นาน ราวบ่ายสามโมงเย็นถึงห้าโมงเย็น นกกระเต็นปักหลักเพศผู้ตัวหนึ่งก็บินมาเกาะที่กิ่งจริงๆ

แม้จะเห็นภาพแค่ครึ่งตัวจากใบไม้บังแต่ก็เล่นเอาตื่นเต้นมาก เก็บภาพได้ในระยะที่พอดี แต่บังไปหน่อย

วันถัดมา ผมและเพื่อนอีกสองคนไปเฝ้านกยังกิ่งไม้แห้งเดิมที่ผมเฝ้าวันก่อน เราสามคนต้องกางบังไพรในไร่ข้าวโพด แดดร้อน เกาคันคะเยอขุยข้าวโพดอยู่นาน นกก็ไม่มาจนค่ำ

ผมยังไม่ละความพยายามที่จะตามเก็บภาพนกกระเต็นปักหลักให้ได้ สี่วันถัดมา 24 พฤศจิกายน 2553 ผมตัดสินใจเดินเลาะริมแม่กกอีกครั้ง แต่เป็นฝั่งตรงข้ามกับคราวที่แล้ว กะว่านกน่าจะมีหลักเกาะประจำ เพื่อหามุมเหมาะๆในการเก็บภาพในระยะใกล้ๆ

ริมฝั่งแม่น้ำกกนั้นรกชัดและชันมาก ผมพบหลักไม้ไผ่ที่ชาวบ้านปักไว้เพื่อวางอุปกรณ์ดักปลา และเป็นจุดเดิมที่เจอนกเกาะพร้อมกันสามตัว จึงแหวกดงอ้ออีกครั้งวางบังไพรยังจุดที่วางได้ ฝั่งซ้ายเป็นแม่น้ำไหลเชี่ยวแค่วางขาตั้งกล้องยังแถบคะมำลงไปในแม่น้ำ  ขวามือเป็นฝั่งสูงชัน  ด้านหลังเป็นดงอ้อรกมีคราบงูลอกไว้เป็นที่ระทึกใจ ส่วนด้านหน้าเป็นระยะวัดใจกับนกที่จะเกาะกิ่งหมายตาเนื่องจากขยับห่างไม่ได้อีกแล้ว!

รอจาก 16.30 น.ได้ยินเสียงนกบินมาครั้งแรกหลังจากนั่งไปราวครึ่งชั่วโมง แต่นกบินเลี้ยวกลับ คาดว่าคงเห็นบังไพร จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงก็บินมาอีกแล้วกลับอีก

รอบสามบินมาราว 17.40 น. ไม่เกาะ แต่บินไปเกาะฝั่งตรงข้าม ใจคิดว่าวันนี้คงแห้วกลับ คาดว่าบังไพรคงใกล้เกินไป ตะวันลับขอบฟ้า น้ำกกสะท้อนแสงเย็นกลายเป็นสีม่วงคราม

กำลังจะลุกจากบังไพร ก็ได้ยินเสียงนกบินมาอีกครั้ง คราวนี้เกาะคอนไผ่ที่ชาวบ้านทำเป็นอุปกรณ์ดักปลาไว้ โดยมาพร้อมกับอาหารในปาก

เวลา 17.49 น. แม้แสงหมดแต่ iso 1600 ของ D7000 ก็ช่วยให้เก็บภาพแรกไว้ได้ ซึ่งก็คือภาพนี้ครับ



ระยะเท่านี้ เลนส์ 300 mm เต็มเฟรม แต่นกก็ดูไม่ได้ตื่นตกใจอะไร คงเพราะแสงหมดจนนกสังเกตุยาก

จากนั้นก็มาทั้งตัวผู้และตัวเมีย บินโฉบปลาด้านหน้าอยู่ราวสามครั้งซึ่งก็ได้ปลาทุกครั้ง ผมเก็บทั้งภาพนิ่งและวีดิโอจนพอใจจึงนั่งดูเฉยๆ

ครั้งจะถ่ายแอ๊คชั่น สวยๆก็เกินกำลังของ iso 6400 ได้สปีด 200 จึงเลิกถ่าย เกือบมืดนกก็บินกลับ เลยเก็บบังไพรปีนขึ้นฝั่งอย่างทุลักทุเล

หลังจากวันนั้น ผมและเพื่อนก็ยังเทียวไปเฝ้านกอีก ซึ่งนกกระเต็นปักหลักกลุ่มนี้ก็ยังมาเกาะคอนตำแหน่งเดิมอยู่เรื่อยๆ ไม่นานเราก็ทำบังไพรถาวรในบริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นจุดดูนกกระเต็นปักหลักและทำให้นกไม่กังวลมากเกินไป

เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะและริมแม่กกก็เป็นพื้นที่ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เราจึงจำเป็นต้องทำป้ายไว้เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รู้และไม่รบกวนนกจนเกินไป ใจก็คิดว่าจะขอพบผู้นำหมู่บ้านเพื่อเล่าให้คนพื้นที่ฟัง อีกใจคิดว่าการแพร่ข่าวมากไปอาจทำให้ชาวบ้านสนใจมากเกิน ซึ่งอาจนำอันตรายมาสู่ตัวนกได้ เพราะชาวบ้านที่ถือปืน(และไม่ได้แบกปูนมาโบกตึก)ยังเห็นอยู่ประจำในบริเวณดังกล่าว

เราจึงทำได้เพียงแค่พูดคุยกับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง และทำป้ายขอความร่วมมือในการอนุรักษ์ไว้เท่านั้น

จากนั้นอีกหลายเดือนเราชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงก็ได้แวะเวียนมาดูนกกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ มีผู้เห็นนกในคราวเดียวกันมากสุดสี่ตัว ตัวผู้สามและตัวเมียหนึ่ง

หลังจากนกกลุ่มนี้ทำให้เรามีความสุขกับการได้ดูได้เห็นพฤติกรรมของเขาอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดผมก็ได้ภาพ Hovering หรือการบินปักหลักซึ่งเป็นที่มาของชื่อนกชนิดนี้จนได้ ไม่ง่ายเลยที่จะถ่ายภาพพฤติกรรมนี้ของเราในระยะใกล้ๆได้


ถ้าจะนับระยะเวลาในการเฝ้ารอก็กินเวลาไปเกือบสามเดือนเลยทีเดียว แต่เราทุกคนก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นเขาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติอย่างที่เขาควรจะเป็น

ก็ได้แต่หวังว่านกกระเต็นปักหลักกลุ่มนี้จะไม่รอรักและรักษ์นานเกินไป ก็หวังว่าชาวบ้านในพื้นที่คงจะเข้าใจและเห็นถึงคามสำวคัญของนกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพื่อเติมเต็มสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเขาให้สมบูรณ์


ในนามีข้าวแล้วในน้ำก็ย่อมมีปลา(และนกเต็น) ดังภาษิตที่ว่าไว้