วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

กระเต็นปักหลัก รอรัก(ษ์)ที่ริมกก

ในหมวดนกที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำนั้น กลุ่มนกกระเต็นถือว่าเป็นนกที่มีเสน่ห์ทั้งรูปทรงสีสันที่สวยงามและพฤติกรรมที่น่าสนใจ

นกกระเต็นอีกชนิดที่พบได้บ่อยและเห็นภาพบ่อยๆจากแถบภาคกลางคือนกกระเต็นปักหลัก (Pied Kingfisher) ผมเองก็เคยมีโอกาสเดินทางไปดูที่อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา แต่รอบที่ไปคราวนั้นนกอยู่ไกลและถ่ายภาพแทบไม่ได้เลย

เมื่อราวเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่ตามถ่ายนกคัคคูขาวดำ (Pied Cuckoo) บริเวณริมแม่น้ำกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผมก็ได้ยินเสียงนกกระเต็นปักหลัก แต่ไม่ทันได้เห็นตัว ขณะที่ป้าหล้านักถ่ายภาพอีกคนได้เห็นนกชนิดนี้บินผ่านไปในระยะไกลซึ่งก็ช่วยยืนยันแน่นอนว่าแม่น้ำกกมีนกกระเต็นปักหลักอาศัยอยู่

หลังจากนั้นก็พยายามดูตามแม่น้ำกกอยู่ตลอดเวลาถ้ามีโอกาสเผื่อได้ถ่ายภาพนกในระยะใกล้ๆมั่ง จนแล้วจนรอดก็หาตัวไม่เจอ เพื่อนนักดูนกและถ่ายภาพเจอที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ตามไปดูหลายรอบแต่ก็ถ่ายภาพไม่ได้เลย

จริงๆแล้วมีรายงานการพบนกชนิดนี้อยู่ตามแหล่งน้ำอำเภอเชียงแสนหลายแห่ง รวมทั้งพื้นที่อนุรักษ์นกและธรรมชาติน้ำคำของหมอหม่องด้วย แต่ผมก็ไม่เคยเจอ

จนกระทั่งวันที่ 20 พฤศิกายน 2553 ผมได้มีโอกาสไปดูนกแถวริมแม่น้ำกกบริเวณเดิมอีกครั้ง ริมแม่กกเป็นไร่ข้าวโพดผมเดินลัดไร่ข้าวโพดไปยังริมแม่น้ำเผื่อเจอนกริมแม่น้ำสักตัวสองตัว ใจก็หวังว่าจะเจอกระเต็นปักหลักมั่ง

เหลือเชื่อครับ ผมกวาดสายตาไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำกก เห็นจุดเล็กๆสีขาวด่างๆ คิดว่าเป็นเศษถุงพลาสติก แต่พอส่องกล้องสองตาดูแล้วเหลือเชื่อเป็นสองเท่า

นั่นมันนกกระเต็นปักหลักสามตัว !!!

ถ่ายภาพได้พอเป็นหลักฐานแล้ว ผมก็เดินฝ่าดงอ้อ เพื่อสำรวจ "หลัก" เหมาะๆที่คิดว่านกจะมาเกาะในบริเวณที่ใกล้เคียง ก็เจอและเฝ้าหลักกิ่งไม้แห้งนั้นอยู่นาน ราวบ่ายสามโมงเย็นถึงห้าโมงเย็น นกกระเต็นปักหลักเพศผู้ตัวหนึ่งก็บินมาเกาะที่กิ่งจริงๆ

แม้จะเห็นภาพแค่ครึ่งตัวจากใบไม้บังแต่ก็เล่นเอาตื่นเต้นมาก เก็บภาพได้ในระยะที่พอดี แต่บังไปหน่อย

วันถัดมา ผมและเพื่อนอีกสองคนไปเฝ้านกยังกิ่งไม้แห้งเดิมที่ผมเฝ้าวันก่อน เราสามคนต้องกางบังไพรในไร่ข้าวโพด แดดร้อน เกาคันคะเยอขุยข้าวโพดอยู่นาน นกก็ไม่มาจนค่ำ

ผมยังไม่ละความพยายามที่จะตามเก็บภาพนกกระเต็นปักหลักให้ได้ สี่วันถัดมา 24 พฤศจิกายน 2553 ผมตัดสินใจเดินเลาะริมแม่กกอีกครั้ง แต่เป็นฝั่งตรงข้ามกับคราวที่แล้ว กะว่านกน่าจะมีหลักเกาะประจำ เพื่อหามุมเหมาะๆในการเก็บภาพในระยะใกล้ๆ

ริมฝั่งแม่น้ำกกนั้นรกชัดและชันมาก ผมพบหลักไม้ไผ่ที่ชาวบ้านปักไว้เพื่อวางอุปกรณ์ดักปลา และเป็นจุดเดิมที่เจอนกเกาะพร้อมกันสามตัว จึงแหวกดงอ้ออีกครั้งวางบังไพรยังจุดที่วางได้ ฝั่งซ้ายเป็นแม่น้ำไหลเชี่ยวแค่วางขาตั้งกล้องยังแถบคะมำลงไปในแม่น้ำ  ขวามือเป็นฝั่งสูงชัน  ด้านหลังเป็นดงอ้อรกมีคราบงูลอกไว้เป็นที่ระทึกใจ ส่วนด้านหน้าเป็นระยะวัดใจกับนกที่จะเกาะกิ่งหมายตาเนื่องจากขยับห่างไม่ได้อีกแล้ว!

รอจาก 16.30 น.ได้ยินเสียงนกบินมาครั้งแรกหลังจากนั่งไปราวครึ่งชั่วโมง แต่นกบินเลี้ยวกลับ คาดว่าคงเห็นบังไพร จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงก็บินมาอีกแล้วกลับอีก

รอบสามบินมาราว 17.40 น. ไม่เกาะ แต่บินไปเกาะฝั่งตรงข้าม ใจคิดว่าวันนี้คงแห้วกลับ คาดว่าบังไพรคงใกล้เกินไป ตะวันลับขอบฟ้า น้ำกกสะท้อนแสงเย็นกลายเป็นสีม่วงคราม

กำลังจะลุกจากบังไพร ก็ได้ยินเสียงนกบินมาอีกครั้ง คราวนี้เกาะคอนไผ่ที่ชาวบ้านทำเป็นอุปกรณ์ดักปลาไว้ โดยมาพร้อมกับอาหารในปาก

เวลา 17.49 น. แม้แสงหมดแต่ iso 1600 ของ D7000 ก็ช่วยให้เก็บภาพแรกไว้ได้ ซึ่งก็คือภาพนี้ครับ



ระยะเท่านี้ เลนส์ 300 mm เต็มเฟรม แต่นกก็ดูไม่ได้ตื่นตกใจอะไร คงเพราะแสงหมดจนนกสังเกตุยาก

จากนั้นก็มาทั้งตัวผู้และตัวเมีย บินโฉบปลาด้านหน้าอยู่ราวสามครั้งซึ่งก็ได้ปลาทุกครั้ง ผมเก็บทั้งภาพนิ่งและวีดิโอจนพอใจจึงนั่งดูเฉยๆ

ครั้งจะถ่ายแอ๊คชั่น สวยๆก็เกินกำลังของ iso 6400 ได้สปีด 200 จึงเลิกถ่าย เกือบมืดนกก็บินกลับ เลยเก็บบังไพรปีนขึ้นฝั่งอย่างทุลักทุเล

หลังจากวันนั้น ผมและเพื่อนก็ยังเทียวไปเฝ้านกอีก ซึ่งนกกระเต็นปักหลักกลุ่มนี้ก็ยังมาเกาะคอนตำแหน่งเดิมอยู่เรื่อยๆ ไม่นานเราก็ทำบังไพรถาวรในบริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นจุดดูนกกระเต็นปักหลักและทำให้นกไม่กังวลมากเกินไป

เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะและริมแม่กกก็เป็นพื้นที่ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เราจึงจำเป็นต้องทำป้ายไว้เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รู้และไม่รบกวนนกจนเกินไป ใจก็คิดว่าจะขอพบผู้นำหมู่บ้านเพื่อเล่าให้คนพื้นที่ฟัง อีกใจคิดว่าการแพร่ข่าวมากไปอาจทำให้ชาวบ้านสนใจมากเกิน ซึ่งอาจนำอันตรายมาสู่ตัวนกได้ เพราะชาวบ้านที่ถือปืน(และไม่ได้แบกปูนมาโบกตึก)ยังเห็นอยู่ประจำในบริเวณดังกล่าว

เราจึงทำได้เพียงแค่พูดคุยกับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง และทำป้ายขอความร่วมมือในการอนุรักษ์ไว้เท่านั้น

จากนั้นอีกหลายเดือนเราชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงก็ได้แวะเวียนมาดูนกกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ มีผู้เห็นนกในคราวเดียวกันมากสุดสี่ตัว ตัวผู้สามและตัวเมียหนึ่ง

หลังจากนกกลุ่มนี้ทำให้เรามีความสุขกับการได้ดูได้เห็นพฤติกรรมของเขาอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดผมก็ได้ภาพ Hovering หรือการบินปักหลักซึ่งเป็นที่มาของชื่อนกชนิดนี้จนได้ ไม่ง่ายเลยที่จะถ่ายภาพพฤติกรรมนี้ของเราในระยะใกล้ๆได้


ถ้าจะนับระยะเวลาในการเฝ้ารอก็กินเวลาไปเกือบสามเดือนเลยทีเดียว แต่เราทุกคนก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นเขาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติอย่างที่เขาควรจะเป็น

ก็ได้แต่หวังว่านกกระเต็นปักหลักกลุ่มนี้จะไม่รอรักและรักษ์นานเกินไป ก็หวังว่าชาวบ้านในพื้นที่คงจะเข้าใจและเห็นถึงคามสำวคัญของนกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพื่อเติมเต็มสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเขาให้สมบูรณ์


ในนามีข้าวแล้วในน้ำก็ย่อมมีปลา(และนกเต็น) ดังภาษิตที่ว่าไว้

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แจวเรือพายถ่ายเหยี่ยวออสเปร

เหยี่ยวออสเปร ชื่อก็แปลก แต่ที่แปลกสำหรับผมมากกว่าคือได้รู้มาว่าเป็นเหยี่ยวไม่กี่ชนิดที่ล่าปลาเป็นอาหารหลัก เนื่องจากว่าเป็นเหยี่ยวที่อาศัยอยู่ตามหนองน้ำหรือทะเลโดยโฉบจับปลาเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้เจอทางเหนือถือว่าไม่ง่ายนัก ต้องมองหาตามแหล่งน้ำใหญ่ๆนั่นเอง

ผมเคยเจอเหยี่ยวชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อราวมกราคม 2552 ที่หนองบงคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่บอกว่าที่หนองบงคายในเวลานั้นไม่เจอเหยี่ยวชนิดนี้มาสองปีแล้ว ทำให้ผมดีใจเป็นอย่างมาก ถ่ายภาพเหยี่ยวออสเปรได้แต่แบบไกลๆ เนื่องจากขณะนั้นเพิ่งหัดเริ่มถ่ายภาพนกใหม่ๆ

อีกราวปีกว่าๆผมก็ได้พบเหยี่ยวชนิดนี้อีกที่หนองหลวง อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย แบบไกลๆเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะไอเดนเหยี่ยวชนิดนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีเพื่อนถ่ายภาพเขาได้ที่หนองหลวงอีกด้วย  ยิ่งทำให้ผมรู้สึกตื้นเต้นที่จะเก็บภาพของเหยี่ยวออสเปรให้ได้  เมื่อมีโอกาสไปดูนกที่ทะเลสาบเชียงแสนหรือหนองบงคายอีก ผมจึงพยายามมองไปยังต้นไม้หรือกิ่งไม้แห้งๆรอบหรือกลางหนองเผื่อเจอเหยี่ยวเกาะอยู่ และราวเดือนธันวาคมผมก็ส่องกล้องเจอนกชนิดหนึ่งหัวขาวๆเด่นมาแต่ไกล เกาะอยู่กลางเกาะที่หนองบงคาย เมื่อพิจาณาดูให้แน่จึงรู้ว่ามันเป็นเหยี่ยวออสเปรที่ผมตามหานั่นเอง

เหยี่ยวเกาะอยู่ริมเกาะกลางหนองซึ่งระยะจากฝั่งที่ผมและเพื่อนยืนอยู่ไม่น้อยไปกว่าครึ่งกิโล ฉะนั้นโอกาสจะได้ภาพสวยๆเป็นไปไม่ได้เลย หลังจากวันนั้นผมก็ครุ่นคิดหาวิธีที่จะเข้าไปเก็บภาพหลากหลายวิธี เคยนั่งเรือยนต์แต่ก็เข้าใกล้ไม่ได้เลย หรืออาจจะลองหาตำแหน่งที่นกเกาะแน่ๆของหนองหลวง ซึ่งดูแล้วไม่ง่ายเลยยิ่งหนองหลวงเป็นหนองที่ไม่ค่อยมีต้นไม้แห้งหรือกิ่งที่นกควรจะเกาะอยู่เท่าไหร่ ผมจึงคิดว่าที่หนองบงคายนี่แหละน่าจะง่ายกว่าในการถ่ายภาพเหยี่ยวชนิดนี้

ในทีสุดผมก็ตัดสินใจได้ว่าผมจะใช้วิธีที่มีโอกาสจะเข้าใกล้นกได้มากที่สุดเท่าที่นกจะไว้วางใจ แต่ก็ถือว่าเสี่ยงที่สุดเหมือนกันที่จะปฏิบัติ นั่นก็คือแจวเรือพายไปถ่ายเหยี่ยวออสเปร

หลังจากที่รู้ว่าเหยี่่ยวเกาะตรงกิ่งไหนค่อนข้างแน่นอนแล้ว วันหยุดคริสต์มาสของที่ทำงาน เป็นวันที่เหมาะที่สุดเนื่องจากมีเวลาว่างค่อนข้างมาก ผมจึงไปหนองบงคายอีกครั้ง ครั้งนี้เพื่อเก็บภาพเหยี่ยวออสเปรโดยเฉพาะ ราวเกือบบ่ายสองผมก็ยังหาพาหนะไม่ได้ จนคิดว่าวันนี้คงไม่ได้แล้ว แต่ก่อนกลับก็มีชาวบ้านคนหนึ่งรู้ว่าผมต้องการเรือแจว เขาก็ได้อนุญาตให้ผมใช้เรือแจวของเขาได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องนำเรือกลับเข้าฝั่งก่อนสี่โมงเย็นเพราะเขาต้องใช้เรือแจวไปดักปลาตอนเย็น

อย่างที่ทราบว่าเรือแจวนั้นลำไม่ใหญ่มากนัก การที่คนๆหนึ่งจะแจวเรือนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่าประสพการณ์หนึ่งครั้งที่ผมเคยแจวเรือพายเมื่อตอนอายุราว 15 ปีหรือกว่าครึ่งชีวิตผมแล้วคงพอช่วยได้ !!

บ่ายสองครึ่งหลังจากชาวบ้านได้ไปส่งผมที่เรือซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งห่างจากเกาะเป้าหมายราวหนึ่งกิโลเมตรแล้ว ผมก็ขนสัมภาระในการเก็บภาพประกอบด้วยกล้องเลนส์ ขาตั้งกล้อง บังไพรที่ผมคิดว่าต้องได้ใช้แน่ไปด้วย พร้อมน้ำดื่มอีกสักขวด แต่พลันที่ก้าวเท้าซ้ายขึ้นเหยียบท้องเรือก็เล่นเอาใจแทบตกตาตุ่ม เพราะเรือเอียงกะเท่เร่ทำท่าจะคว่ำไม่คว่ำแหล่ ในใจคิดว่านี่ถ้าคว่ำกลางบึง ผมคงหมดไปเกือบแสนเลยทีเดียว  แต่ผมก็ประคับประคองจนขึ้นนั่งบนเรือได้ แม้จะดูเงอะงะงุ่มง่ามเต็มที

แดดร้อนจัดตอนบ่ายสองแต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นเหลือเกินก็บ่ยั่น เริ่มแจวเรือออกจากฝั่งมุ่งไปยังเกาะกลางบึง แจวไป คัดไป ซ้ายทีขวาที บางครั้งเรือวกกลับวนรอบตัวเองไปหนึ่งรอบก็มี เล่นเอาเหงื่อตก แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังยกกล้องและเลนส์ถ่ายนกกระสาแดงระหว่างทางได้  ถ่ายไปเรือก็เอนไปสนุกดีเหมือนกันแหะ

เวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมงผมก็เข้าใกล้เกาะกลางมากกว่าห่างจากฝั่ง เหยี่ยวยังเกาะกิ่งไม้ไผ่แห้งๆที่เดิม พยายามที่จะเบี่ยงหัวเรือให้เบนออกจากตำแหน่งที่นกเกาะเผื่อไม่ให้เหยี่ยวกังวลกับเรามาก แต่สายลมที่พัดแรงกลางบึงก็ทำให้กระแสน้ำตีเรือเราหันหัวเข้าหาเหยี่ยวอยู่ดี เล่นเอาล่อกับกระแสน้ำเหงื่อตกไปพักใหญ่ จนสุดท้ายผมก็เข้าใกล้เหยี่ยวออสเปรได้พอสมควรที่จะเก็บภาพได้ จึงหยุดแจวแล้วปล่อยให้เรือแล่นไปช้าๆนิ่งๆ มือซ้ายยกเลนส์มือขวาเหนี่ยวชัตเตอร์ แม้เรือจะเอียงจนทำท่าว่าจะคว่ำถึงขั้นต้องเลิกถ่ายเป็นช่วงๆ แต่ผมก็ได้ภาพที่ดีสุดเท่าที่เคยถ่ายเหยี่ยวชนิดนี้แล้ว แม้จะเป็นภาพกว้างๆก็ตาม




หลังจากได้ภาพชุดแรก ผมก็แจวเรือขยับเข้าใกล้อีก เนื่องจากเข้าใกล้เกาะกลางบึงแล้วจึงมีผักตบชะวาลอยขวางลำเรือเป็นหย่อมๆ ผมต้องแจวเรือหลบไปด้วย ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวพอสมควร

พอเขัาใกล้มากจนคิดว่าได้รูปดีแน่ๆแล้วก็ยกกล้องขึ้นพร้อมจะกดชัตเตอร์อีกครั้ง แต่คราวนี้เมื่อจะกดชัตเตอร์เหยี่ยวก็โผออกจากกิ่งไผ่นั้นซะแล้ว




ผมพยายามองหาตำแหน่งที่จะซุ่มรอเหยี่ยว เพราะคาดว่ายังไงเหยี่ยวก็ต้องกลับมาเกาะกิ่งเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหยี่ยวสายตาดีมุมที่จะซุ่มเลยต้องมิดชิดมากๆ เลยตัดสินใจดันเรือเข้าหาฝั่งซึ่งแน่นอนต้องดันหัวเรือแหวกแพผักตบชวาที่ขึ้นหนาเหลือเกิน เกิอบๆยี่สิบนาทีผมจึงดันเรือแจวผ่านแพผักตบชวาแค่สิบเมตรได้

พอได้มุมเหมาะๆก็กลางบังไพรคล่อมบนเรือแจวที่ลอยอยู่ในน้ำอีกที ขาตั้งกล้องปักลงไปในน้ำซึ่งไม่ลึกมากเพราะอยู่เกือบชิดฝั่ง ได้ระยะพอสมควร ต้องนั่งนิ่งกว่าการนั่งบังไพรปกติ เพราะถ้าขยับตัวแม้แต่นิดเีดีียว เรือแจวก็จะแกว่งไปมาอีกหลายนาทีจึงจะกลับมานิ่งเหมือนเดิม จากนั้นก็รอ  พลางก็คิดในใจว่านี่น่าจะเป็นการกางบังไพรที่ทุลักทุเลและบ้าบิ่นเอามากๆทีเดียว

มองนาฬิกาบนข้อมือเวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง ก็บ่ายสามโมงกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววที่เหยี่ยวออสเปรตัวนั้จะกลับมาเกาะอีก คิดว่าเวลาคงยังน้อยไปที่นกจะวนกลับมาอีกรอบ แต่ผมก็ใช้เวลาหมดไปเสียแล้ว เลยจำต้องแจวเรือพายกลับขึ้นฝั่ง ซึ่งแน่นอนผมก็ต้องแจวมั่งคัดท้ายเรือมั่งไม่ต่างขามา

จนที่สุด ก็แจวมาถึงฝั่งบริเวณที่จอดเรือทันเวลาสี่โมงเย็นพอดี

หลังจากนั้นผมก็ยังไม่มีเวลาจะกลับไปดูเหยี่ยวออสเปรที่หนองบงคายอีก จนกระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ผมมีโอกาสไปดูนกที่เชียงแสนอีกครั้ง ขากลับผมและเพื่อนอีกคนได้ตัดสินใจจะไปดูเป็ดเปียหน้าเขียวที่มาลงที่หนองบงคายพอดี

เรามีเวลาไม่มากนัก และคราวนี้เราใช้เรือยนต์ของทางเขตฯเป็นพาหนะ ไปกันสองคนพร้อมอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม (และหนักกว่าเดิม) ระหว่างเรือยนต์แล่นเกือบจะถึงเกาะกลางบึง ผมก็ส่องกล้องสองตาเห็นเหยี่ยวออสเปรตัวเดิมเกาะกิ่งไผ่แห้งที่เดิมอีก

คราวนี้เลยคิดในใจว่าน่าจะเก็บภาพได้ดีกว่า เพราะระยะเลนส์ 500 mm น่าจะไม่ต้องเข้าใกล้มาก พี่หนุ่มคนขับเรือก็ดับเครื่องตั้งแต่สองร้อยเมตรตามคำขอของผม เรือยนต์ค่อยๆแล่นเข้าหาเหยี่ยวอย่างช้าๆ พร้อมกับเสียงชัตเตอร์ของเราที่ดังเป็นระยะๆ นานทีเดียวจนเรือเข้าใกล้ในระยะที่ภาพเต็มเฟรม เหยี่ยวออสเปรตัวนั้นจึงโผบินออกจากกิ่งไผ่ ผมยังได้ภาพบินมาด้วยหนึ่งภาพแต่ก็ไม่ชัดเท่าไหร่

เราไม่เจอเป็ดเปียหน้าเขียวหายากตัวนั้น ซึ่งคงต้องหาเวลากลับมาดูอีกครั้ง แต่ผมก็คิดว่าไม่เสียเที่ยวสักเท่าไหร่ เพราะยังเก็บภาพเหยี่ยวออสเปรได้ในระยะแบบไม่ต้องออกแรงแจวเรือเพื่อถ่ายซ่อมกันอีก แถมยังเป็นนกใหม่ของเพื่อนด้วย

แม้ว่าจะเป็นนกที่หาไม่ยาก หรือบางสถานการณ์บางที่จะถ่ายภาพได้ไม่ยากมาก เหมือนที่ผมถ่ายภาพบนเรือยนต์ได้ไม่ยากอย่างที่คิด แต่การแจวเรือพายไปถ่ายเหยี่ยวออสเปรครั้งนั้นก็เป็นประสพการณ์ที่น่าจดจำของผมไปอีกนานเลยทีเดียว

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นกกระเต็นขาวดำใหญ่

...อันที่จริงผมก็ไม่เคยเจอหรือได้ข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดนี้เลย เคยเห็นรูปนกกระเต็นขาวดำใหญ่ที่ที่ทำการอช.แม่วงศ์ครั้งนึง

เคย ดูในกระทู้ของชาวญี่ปุ่นที่น้องต้น unravel นำมาแปะให้ดูที่ลานนาเบิร์ดครั้งนึง และเคยดั้นด้นไปดูที่เชียงดาวกับน้าว่างครั้งนึงแต่เข้าใจผิดเพราะกลายเป็น กระเต็นหัวดำ(ใหญ่)

น้าฮ้งเคยเล่าให้ฟังว่าถ้าอยากเจอคงต้องไป แม่ฮ่องสอน และที่สุดผมก็ได้ข้อมูลจากพี่หมอที่รู้จักคนนึงว่าสามปีก่อนเคยเจอที่เขื่อน แม่สะงา และปีที่แล้วก็ยังมีคนเจอ

จนกระทั่งหลังจากหากระเต็นปักหลักจนเจอ เราคุยกันว่าจะไปวัดดวงกับขาวดำใหญ่กัน ลองพาหนะ ลองอาวุธใหม่(ของน้าจุ้ยนะ)

ก่อนออกเดินทางก็ถือว่าโชคดีได้รับกำลังใจจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่าน่าจะเจอ

ทริปนี้ยังมีเพื่อนอีกคนอาสาเป็นพลขับตั้งแต่ทริปกินแห้วกระสาดำที่ฝาง ก็อาสาเป็นพลขับเหมือนเดิม ออกเดินทางวันศุกร์บ่ายคืนแรกก็ไปแวะดื่มน้ำชาที่ปายฉิวๆ

วันเสาร์ ออกจากปายตั้งแต่ตีห้า เมารถมั่งเมาอะไรมั่ง หลับระหว่างทางก็มี ผ่านพันโค้งไปถึงเขื่อนแม่สะงาก็แปดโมงเช้าพอดี อากาศสดใสถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกเสียหน่อย

เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็ออก เดินตามทางเดินจากสันเขื่อนเข้าป่าตามจุดที่พี่หมอบอกว่า "ตอ" ประจำที่นกชอบมาเกาะ เดินขึ้นๆลงไปได้ระยะหนึ่ง หอบแห่กๆ

ได้ยินเสียงคล้ายหัวขวานบางชนิดในกอไผ่ก็ไม่ได้สนใจดู ระยะทางร่วมกิโล ในที่สุดเราก็เจอ"ตอ"ต้นเหตุนจนได้

ดู ทิศทางเสร็จสรรพ โอเคเฝ้าตอนี่แหละ เหมือนว่าโชคจะดีมีกระเต็นหัวดำตัวหนึ่งโฉบผ่านไปพอดี เอ๊ะหรือว่ามันจะกลายเป็นกระเต็นหัวดำ(ใหญ่)อีกหว่า

น้าจุ้ยนั่งเฝ้าก่อน ผมเดินไปดูนกริมน้ำตก ก็เจอ Riverchat กับ Slaty-backed Forktail สองตัวแล้วกลับมาเฝ้าตอนั้นต่อ

น้า จุ้ยบอกว่าเจอแล้วกระเต็น...น้อยธรรมดา อืมม...เดี๋ยวใหญ่ก็คงมา ผ่านไปชั่วโมงแรก กดตอมาหนึ่งรูปดันมีหยากไหย่ปลายตอก็แปลว่านกไม่น่าจะเกาะประจำ เพราะหยากไหย่ขึ้น

แต่ผมเห็นขี้ก้อนหนึ่งติดกิ่งล่าง ก็คิดว่ารออีกสักชั่วโมง ผ่านไปอีกชั่วโมง เรากลับมาวิเคราะห์ใหม่ว่าขี้ก้อนนั้นมันเล็กไป สงสัยว่าจะเป็นขี้เจ้ากระเต็นน้อย อืมม..มีเหตุผล เราเลยเลิกเฝ้ากัน

เพราะหิวข้าวและเหนื่อยแล้ว คิดว่าคงแห้วแล้วไม่มีวี่แวว หรือจะกลับมาใหม่ หรือจะไปห้วยน้ำดังตามหา Black-throated PRB กันดีกว่า

ระหว่างเดินหอบกลับแบบหมดแรงโดยเฉพาะคนแบก 4002.8 แบกไปบ่นไป ผมก็ยังได้ยินเสียงแหบๆอยู่กอไผ่ด้านล่างริมอ่างเก็บน้ำเหมือนเดิม

ใจ ก็คิดว่าหัวขวานหรือเปล่า ใจนึงก็คิดว่าเสียงท่วงทำนองแบบนี้คล้ายนกกระเต็น แต่ไม่รู้ว่าชนิดไหนไม่เคยได้ยิน มองลงไปอ่างน้ำก็มีกิ่งไผ่บังซะมิด

แต่ แล้วสายตาแห้วๆ ก็ดันเหลือบผ่านช่องใบไผ่เล็กๆไปเห็นนกตัวหนึ่งเกาะกิ่งไม้สาขาของตออยู่ อ่างเก็บน้ำด่านล่าง นกกระโดดเล่นน้ำหนึ่งจังหวะ แล้วกลับมาเกาะใหม่

เอา ละเว้ย แม่เจ้า ไบน๊อคส่องดูมีหงอนตั้งสูง ลายตราหมากรุกที่ลำตัวและปีก  บราโว่...ผมร้องออกเสียงเบาๆอย่างอดไม่ได้ นั่นมันนกที่เราตามหานี่นา กระเต็นไข่ดำยาว-ขาวดำใหญ่ เฝ้าผิด"ตอ"อยู่ตั้งนาน

เราเก็บภาพไว้คนละสี่ห้าภาพ อัดวีดีโอไว้เป็นหลักฐานได้สี่ห้าวิ แล้วก็ตกลงกันว่าไปพักเอาแรงหาอะไรใส่ท้องก่อนแล้วค่อยกลับมาเฝ้าใหม่




ขา เดินกลับนี้กระปี้กระเปร่าเต็มที่ อะดรีนาลีนมันหลั่งได้ที่จริงๆ ได้รูปมาไกลๆบอก 4002.8 มันสั้นไปหน่อย อยากแบก 1200 mm ให้รู้แล้วรู้รอด พับผ่า

สงสัยจะชะล่าใจไปหน่อย เลยไปเติมอะไรรองท้องถึงแม่ฮ่องสอน กะว่างานนี้ยังไงๆก็ล้นเฟรมแน่ ต่อไปเลย 2x 3x กี่x ใสเข้าไป

กินข้าวไปก็วางแผนไปพลางกะว่า บ่ายนี้มาแน่ หาตำแหน่งวางบังไพรให้มิดชิด เล็งกิ่งเมื่อเช้านี่แหละชัวร์ แสงสี หลังละลาย เต็มๆ 800 มม

ปรากฏ ว่านั่งก็แล้วนอนก็แล้ว ตบยุงรอ ตากแดดลุ้น นิ่งๆเงียบๆ ผายลมเบาๆก็แล้ว ผ่านไปเกือบสี่โมงครึ่ง ตะวันลับยอดดอย ..แห้วครับงานนี้ไม่เจอแม้นกสักตัว

เดิน คอตกกลับ 4002.8 มันทำไมหนักจังเลยฟร่ะ ... ไม่เป็นไรน่า อย่างน้อยเราก็เจอ และได้ภาพแล้ว คืนนี้ไปดูน้องกระเต็นอกขาวขาขาวที่ปางอุ๋งกันดีกว่า พรุ่งนี้วางแผนใหม่

วันอาทิตย์ตื่นแต่ตีสี่ เก็บของเสร็จตีห้าชาวบ้านชาวช่องเริ่มทะยอยกันเข้างานวัด เอ้ย..จุดถ่ายรูปชมวิว เราก็เก็บภาพนิดหน่อยแล้วสวนทางชาวบ้านเขาออก

ถึง เขื่อนราวเจ็ดโมง วันนี้เจอชาวบ้านเข้าไปเส้นทางริมเขื่อนหลายกลุ่มมีอาวุธบ้างไม่มีบ้าง จะแห้วหรือเปล่าน้อ  แต่ที่แน่ๆ วันนี้เราส่องจากสันเขื่อนเจอกระเต็นขาวดำใหญ่ทั้งสองตัวเกาะบนตอไม้แห้ง ไกลๆ

ตระเตรียมอุปกรณ์เสร็จ แบกของหนัก(มั่งไม่หนักมั่งแล้วแต่อารมณ์)อย่างมีสมาธิ ไปยังจุดหมาย บริเวณตลิ่งที่ลึกชันและเข้าใกล้นกที่สุดเราละไว้ก่อนเพราะกลัวนกจะตื่นและ เข้าหาตำแหน่งยาก

เลยไปเฝ้าจุดเดิมของเมื่อวาน อย่างน้อยถ้านกเกาะตอกลางน้ำก็ได้ภาพกว้างๆไว้ก่อน

เราเดินตามหลังคนหาปลา นกบินออกจากเวิ้งดังกล่าวไปก่อนแล้ว กลางบังไพรเสร็จสรรพ รอไม่นานนัก คราวนี้นกก็บินมาเกาะตอไม้แห้งกลางน้ำจริงๆ ไกลพอสมควร

แต่ก็ดีใจมาก ที่ได้เก็บภาพเขาไว้ได้ ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว เราพยายามที่จะนิ่งที่สุดเพื่อให้นกไม่ตื่น โชคดีอีกรอบที่ตัวผู้บินมาเกาะกิ่งไผ่เหนือน้ำขึ้นไปราวยี่สิบเมตร ห่างจากจุดที่อยู่ราวสามสิบเมตร

แต่มุมด้านหน้าบังมิด จะขยับก็กลัวนกจะตื่นได้แต่มองๆว่านกทำอะไร ตัวผู้เขาก็ร้องไปมา หงอนตั้งและกระดกหางบ่อย น่ารักมาก

เมื่อ คิดว่านกไม่ตื่นมากแล้วเลยพยายามหามุมกัน แต่ยังขยับขาตั้งกล้องไม่ได้อยู่ดี เอาว่ะ 4002.8 handheld ยกไปสองสามรอบ หมดแรงข้าวผัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนผมหามุมได้นิดหน่อยผ่านช่องระหว่าง ต้นไม้สองต้น เลยเก็บภาพคู่ไม่ทัน เราถ่ายภาพกันอยู่สักระยะ นกทั้งคู่ก็บินเข้าไปบริเวณป่าด้านใน แต่ก็ยังร้องอยู่เป็นระยะๆ

เฝ้าอีกไม่นาน ก็คิดว่าพอแล้ว ได้ภาพที่คิดว่าดีที่สุดมาพอสมควร  เป็นอันว่าทริปตามหาขาวดำใหญ่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จแฮปปี้เอนดิ้ง เผื่อไปแวะห้วยน้ำดังกันสักหน่อยระหว่างกลับ

เดินกลับสันเขื่อน เก็บข้าวของเสร็จ เตรียมจะออกเดินทางกลับ พลขับตาดี มองเห็นกระเต็นขาวดำใหญ่ตัวหนึ่งบินจากฝั่งที่เราเฝ้าข้ามอ่างเก็บน้ำมาแต่ ไกล

โฉบเหนือผิวน้ำต่ำๆ แล้วบินผ่านคันฝายน้ำล้นหายวับลงไปยังคลองน้ำด้านล่าง เหมือนกับว่าจะมาส่งก็ไม่ปาน

โชคดีนะเจ้ากระเต็น ขอบคุณสำหรับความทรงจำดีๆ แล้วพบกันใหม่...

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผู้นำพายุฝนมาสู่ลุ่มน้ำแม่กก



     หกโมงเช้าวันพุธกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนเร็วกว่าปีก่อน ฝน-แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลมพายุมากกว่า-เริ่มเบียดฤดูร้อนปรากฏมาเป็นพักๆได้ หลายวันต่อกันแล้ว

ผมและพี่ชาย คุณสมสวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อกรุงไทยเชียงราย-พะเยา ได้กลับมาปั่นจักรยานที่เชียงรายอีกครั้ง หลังจากห่างไปสองเดือนช่วงที่ผมไปทำงานที่อำเภอแม่สาย

เราเลือกเส้น ทางใหม่เพื่อให้ได้ระยะที่"ไกล"กว่าเดิม โดยคุณสมสวัสดิ์แนะนำเส้น "เลียบริมน้ำแม่กก" คือออกจากตัวเมืองเชียงรายลัดเลี้ยวไปตามลำน้ำแม่กกฝั่งทิศใต้

ข้ามสะพานแล้ววกเลาะกลับริมฝั่งทางทิศเหนือ

    อันว่าสันฐานของจังหวัดเชียงรายฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำกว้าง ใหญ่ อุดมสมบูรณ์ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมตั้งแต่ สมัยกาลโบราณ ก่อนที่พ่อขุนเม็งรายจะย้ายไปสร้างอาณาจักรล้านนา ณ เมืองเชียงใหม่เสียอีก

พื้นที่ราบลุ่มนี้เกิดขึ้นจากแม่น้ำที่สำคัญ หลายสาขาไหลผ่าน โดยด้านทิศเหนือเรียกที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งมีแม่น้ำแม่สายและแอ่งเชียงแสน เป็นจุดเด่นที่สำคัญ

แต่รอบนี้เราจะปักหมุดไปที่ "ลุ่มน้ำแม่กก"ทางด้านล่างลงมา ซึ่งมีแม่น้ำแม่กกเป็นโลหิตเส้นใหญ่มีต้นสายธารจากเทือกเขาแดนลาวแถบเมือง เชียง ตุงในรัฐฉานของสหภาพพม่า เข้าเขตประเทศไทยที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อายของเชียงใหม่ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแม่ลาวซึ่งเป็นเส้นเล็กก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมระยะได้ 130 กิโลเมตร


     หกโมงเช้าวันพุธเลยจุดบรรจบแม่กกและแม่ลาวไปไม่กี่กิโลเมตร ขณะที่ผมปั่นจักรยานคู่กับพี่ชายพลางสายตาก็เสาะหา"หมาย"นกใหม่ๆตามคำบอก เล่าของพี่ชายเนวิเกเตอร์ว่า "น่าจะมีนก"ให้ดู

เนื่องจากสองข้างถนน เป็นช่วงที่ต้นคูนออกดอกเหลืองอร่าม บางต้นผลิใบอ่อน ตามมาด้วย "หนอนผีเสื้อ" และน่าจะเป็น"หนอนนก"ในธรรมชาติไปในตัว

ขณะปั่นไปพลาง ดูไป ทันใดเสียงพี่ชายตะโกนพร้อมชี้ให้ดูว่า "เฮ้ยท่าน นั่นนกอะไรหนะ?" แว๊บแรกเห็นรางๆผมเบรครถถีบแทบหัวทิ่ม นั่นมันนกมีหงอนที่ไม่ใช่ปิ๊ดจะลิ่วแน่นอน!

ผมขอคุณสมสวัสดิ์วก จักรยานกลับไปดูให้แน่ใจ ในใจคิดไว้แล้วถึงแม้จะเห็นรูปปร่างเพียงเสี้ยววินาทีถีบและไม่เคยได้พบนก ชนิดนี้มาก่อน แต่มันต้องเป็นนกตัวนั้นแน่นอน

โชคดีที่นกยังกระโดด อยู่ต้นเดิมอีกหนึ่งจังหวะก่อนบินวับหายไปในเวลาเพียง ไม่กี่วินาที และผมก็ได้เห็นเต็มๆสองลูกตาแล้วว่าเขาคือ ผู้มาเยือนลุ่มน้ำแม่กก..."นก คัคคูขาวดำ" !!!


 
      นกคัคคูขาวดำหรือภาษาอังกฤษเรียก Pied Cuckoo ผมมักออกเสียงเพี้ยนเป็น"คัดคู"อยู่เรื่อย ถือเป็นนกหายากมาก ข้อมูลในประเทศไทยยังน้อย

รูปร่างเปรียวลำตัวด้านบน ปีกและหางสีดำปลายปีกและปลายหางมีแซมขาว หงอนยาวสีดำและลำตัวส่วนล่างขาว ขนาดยาวเท่าๆกับนกเอี้ยง

ถิ่น อาศัยบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง พบอาศัยในแอฟริกา อพยพมาวางไข่หรืออพยพผ่านแถบอินเดียและเอเชียบางส่วนช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

โดยพบว่านกคัคคูขาวดำจะไข่ทิ้งไว้ในรังของนก ชนิดอื่นซึ่งมักเป็นนกกินแมลง และนกปรอด จากนั้นจะทิ้งไข่ให้พ่อแม่บุญธรรมเลี้ยงโดยไม่สนใจลูกตัวเองอีกเลย


     ในประเทศแถบเอเชียใต้มีตำนานเกี่ยวกับนกชนิดนี้ว่าเป็น "The harbinger of the monsoon" หรือ "ผู้มาพร้อมลมมรสุม" เมื่อพบนกชนิดนี้แล้วอีกภายในสองสามวันจะมีมรสุมตามมา

ตามตำนานเชื่อ ว่านกคัคคูขาวดำจะกินน้ำจากเม็ดฝนเพื่อดำรงชีวิต มีผู้ให้ข้อมูลว่านกอาจอาศัยลมมรสุมช่วยในการบินเพื่ออพยพมาทำรังวางไข่ใน พื้นที่แถบเอเชีย


     หลังจากพบนกครั้งแรกตอนเช้า ผม คุณสมสวัสดิ์และน้าจุ้ยhualek3 ได้สละสภากาแฟหลังอาหารเที่ยงไปวนดูอีกรอบ แต่ไม่พบ

จนกระทั่งเช้าวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 วันถัดมา ผมและน้าจุ้ยไปดูเพื่อเก็บภาพให้ได้อีกครั้ง ในที่สุดก็ได้ภาพนกชนิดนี้เป็นหลักฐาน

จาก นั้นเราได้ไปเวียนดูบ่อยๆ เพราะอยากรู้ว่าคัคคูขาวดำจะอยู่อีกนานแค่ไหน เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 น้าจุ้ยรายงานพร้อมภาพยืนยันว่าพบนกคัคคูขาวดำจำนวนสองตัวบินไล่กันไปมา

จึง อาจเป็นไปได้ว่านกชนิดนี้อาจไม่ใช่แค่ผู้พาพายุฝนมาสู่ลุ่มแม่น้ำกกเท่า นั้น อาจมาทำรังวางไข่ในประเทศไทยตลอดฤดูฝนด้วยก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

     บริเวณที่พบคัคคูขาวดำ ผมและน้าจุ้ยยังพบนกคัคคูอีกคู่หนึ่งตามตำรา "A Guide to the Birds of Thailand" ของคุณหมอบุญส่งสถานะเข้าขั้น"หายาก" นั่นก็คือนกคัคคูพันธุ์ยุโรป

โดยพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 นอกจากนั้นแล้วยังมีเพื่อนถ่ายภาพนกจากกรุงเทพฯพบ"นกคัคคูพันธุ์อินเดีย" บริเวณเดียวกันอีกชนิดหนึ่งด้วย

เข้าใจว่าหนอนผีเสื้อบนต้นคูนคงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พบนกคัคคูทั้งสามชนิด บริเวณดังกล่าวในเวลาไล่เลี่ยกัน

นอก เหนือจากนั้น "หมายบ้านท่าบันได" ริมแม่น้ำกก ยังพบนกกระเต็นปักหลักซึ่งถือเป็นนกที่มีเสน่ห์โดยเฉพาะการ hover บนอากาศก่อนพุ่งลงโฉบปลาในลำน้ำ ซึ่งต้องหาเวลาไปเก็บภาพให้ได้

      เป็นอันว่าระหว่างมรสุมเปลี่ยนฤดูปีนี้ นกคัคคูขาวดำหนึ่งคู่ได้ปรากฏตัวขึ้นที่เชียงรายพร้อมกับเพื่อนๆนกคัคคูอีก สองชนิด ต่อจากนี้ที่ราบลุ่มน้ำแม่กกก็จะเปลี่ยนจากภาวะแห้งแล้งเป็นชุ่มน้ำอีกครั้ง

ได้ แต่หวังว่าเขาจะทำรังวางไข่ตลอดฝน แม้จะเป็นการไข่ทิ้งไว้ในรังของนกชนิดอื่นก็ถือเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เราได้ชมอย่างมีความสุข พร้อมทั้งได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ "ผู้มาพร้อมลมมรสุม" ให้ลึกซึ้งกันต่อไป

นกเป็ดผีใหญ่ Great Crested Grebe


     นกน้ำอีกชนิดหนึ่งที่ผมรู้สึกชอบเป็นพิเศษคือนกกลุ่มเป็ดผี 
ซึ่งที่เคยเห็นและเห็นได้บ่อยด้วยก็คือเป็ดผีเล็ก(Little Grebe) นอกจากหน้าตาที่น่ารักน่าชังแล้ว การดำหายไปในน้ำแล้วไปโผล่อีกที่หนึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าดูและน่ารักมากๆ

    ราววันที่ 18 มกราคม 2554 เพื่อนคนหนึ่งได้โพสต์รายงานนกเป็ดผีอีกชนิดที่พบได้ในไทยคือ เป็นผีใหญ่ ลงในเวปบอร์ดพร้อมรูปภาพที่ชัดเจน ทำให้ผมสนใจอย่างมากที่จะตามไปดูเพราะสถานที่พบไม่ได้ไกลจากเชียงรายเลย 
   เพื่อนแจ้งว่าพบเมื่อสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อนที่ "หนองเล็งทราย" อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ห่างจากเชียงรายราว 60 กิโลเมตรเอง

    หลังเลิกงานสี่โมงเย็นวันที่ 20 มกราคม 2554 ผมและเพื่อนดูนกอีกสองคนเดินทางจากเชียงรายไปหนองเล็งทราย เราไปถึงห้าโมงเย็นแล้ว พยายามจะส่องกล้องสองตาตามหานกเป็นผีตัวนั้น แต่ก็ไม่เจอ เราพยายามขับรถเลาะเรียบหนองซึ่งกว้างกินบริเวณหลายตารางกิโลเมตร แต่ก็หาไม่เจออยู่ดี
   วันที่ 21 มกราคม 2554 หลังเลิกงานสี่โมงเย็นเหมือนเดิม ผมตัดสินใจขับรถไปหนองเล็งทรายอีกครั้ง รอบนี้ไปกับน้าจุ้ย hualek3 ผมเข้าใจว่านกเป็ดผีจะดำน้ำหาอาหาร เพราะฉะนั้นบริเวณที่นกอยู่น่าจะเป็นช่วงที่น้ำลึก ซึ่งก็มีบริเวณเดียวคือกลางบึงหนองเล็งทรายนั่นเอง




     เวลาราวห้าโมงครึ่งตอนเย็น ผมส่องกล้องสองตาเห็นเป็ดอยู่ใจกลางหนองเล็งทรายห่างไปราวครึ่งกิโลเมตรเห็นจะได้ จากภาพที่เห็นดูเหมือนว่านกจะอยู่ใกล้ฝั่งตรงข้ามมากกว่า แต่เมื่อเราขับรถไปฝั่งตรงข้าม นกก็ยังดูเหมือนอยู่ฝั่งตรงข้ามอีกทีอยู่ดี เราจึงสรุปว่านกคงอยู่กลางหนองนั่นแหละ วันนั้นเก็บภาพกันได้พอดูออกว่าเป็นนกเป็ดผีใหญ่

     จากนั้นก็มีเพื่อนนักดูนกอีกหลายคนได้แวะเวียนไปดูนกเป็ดผีใหญ่ที่หนองเล็งทราย มีทั้งเจอมั่งแห้วมั่ง ส่วนผมไม่ได้ไปดูอีกเลย จนกระทั่งต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผมมีธุระกลับบ้านที่อีสาน ขาล่องก็แวะหนองเล็งทรายเพราะเป็นทางผ่าน แต่ก็ไม่เจอ ขากลับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ผมจึงตัดสินใจแวะที่หนองเล็งทรายอีกครั้ง
     วันนั้นผมเข้าไปบริเวณหนองไม่ทันไรก็ส่องเห็นนกเหมือนอยู่ใกล้ฝั่งตรงข้ามอีกแล้ว พยายามขับรถวนไปฝั่งที่คิดว่าอยู่ใกล้ที่สุด แต่ก็หานกไม่เจอ พยายามส่องดูทุกมุมทุกเวิ้งของบึงก็ยังหาไม่พบ จนเวลาล่วงเข้าเกือบห้าโมงเย็นเศษๆซึ่งถือว่าเหลือน้อยเต็มทีในการเก็บภาพ
     และในที่สุดผมก็ส่องเจอนกเป็ดผีใหญ่ตัวนั้นจนได้ เขาไม่ได้อยู่ไกลริมฝั่งมากนัก โดยดำผุดดำว่ายอยู่บริเวณซุ้มทานอาหารของบึงนั่นเอง ผมเตรียมอุปกรณ์และขยับเข้าไปนั่งริมฝั่งเพื่อเก็บภาพนกให้ได้ใกล้และได้รายละเอียดที่สุด ซึ่งก็ได้มาเท่าที่ดูได้ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่นั่งทานอาหารที่ซุ้มทานอาหารอยู่ ทุกคนหันมาสนใจและสนทนากันเองถึงนกเป็ดผีตัวนี้และรวมถึงผมและอุปกรณ์ที่นำมาเก็บภาพก็คงเป็นที่แปลกตาของนักท่องเที่ยวด้วย ผมสนใจก็หาไม่ นั่งถ่ายภาพอยู่ราวยี่สิบนาที แสงก็ลับขอบฟ้า

    นกเป็นผีใหญ่ก็ยังคงดำน้ำลงไปแล้วไปโผล่อีกที่ในระยะไกลพอสมควรจนต้องส่องหากันใหม่อยู่อย่างนั้น เมื่อคิดว่าได้ภาพพอใจแล้วผมจึงลาเจ้าเป็ดผีที่น่ารักตัวนี้กลับเชียงราย 
ถ้ามีโอกาสคงได้แวะไปเยี่ยมเขาอีกสักครั้ง