เหยี่ยวออสเปร ชื่อก็แปลก แต่ที่แปลกสำหรับผมมากกว่าคือได้รู้มาว่าเป็นเหยี่ยวไม่กี่ชนิดที่ล่าปลาเป็นอาหารหลัก เนื่องจากว่าเป็นเหยี่ยวที่อาศัยอยู่ตามหนองน้ำหรือทะเลโดยโฉบจับปลาเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้เจอทางเหนือถือว่าไม่ง่ายนัก ต้องมองหาตามแหล่งน้ำใหญ่ๆนั่นเอง
ผมเคยเจอเหยี่ยวชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อราวมกราคม 2552 ที่หนองบงคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่บอกว่าที่หนองบงคายในเวลานั้นไม่เจอเหยี่ยวชนิดนี้มาสองปีแล้ว ทำให้ผมดีใจเป็นอย่างมาก ถ่ายภาพเหยี่ยวออสเปรได้แต่แบบไกลๆ เนื่องจากขณะนั้นเพิ่งหัดเริ่มถ่ายภาพนกใหม่ๆ
อีกราวปีกว่าๆผมก็ได้พบเหยี่ยวชนิดนี้อีกที่หนองหลวง อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย แบบไกลๆเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะไอเดนเหยี่ยวชนิดนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีเพื่อนถ่ายภาพเขาได้ที่หนองหลวงอีกด้วย ยิ่งทำให้ผมรู้สึกตื้นเต้นที่จะเก็บภาพของเหยี่ยวออสเปรให้ได้ เมื่อมีโอกาสไปดูนกที่ทะเลสาบเชียงแสนหรือหนองบงคายอีก ผมจึงพยายามมองไปยังต้นไม้หรือกิ่งไม้แห้งๆรอบหรือกลางหนองเผื่อเจอเหยี่ยวเกาะอยู่ และราวเดือนธันวาคมผมก็ส่องกล้องเจอนกชนิดหนึ่งหัวขาวๆเด่นมาแต่ไกล เกาะอยู่กลางเกาะที่หนองบงคาย เมื่อพิจาณาดูให้แน่จึงรู้ว่ามันเป็นเหยี่ยวออสเปรที่ผมตามหานั่นเอง
เหยี่ยวเกาะอยู่ริมเกาะกลางหนองซึ่งระยะจากฝั่งที่ผมและเพื่อนยืนอยู่ไม่น้อยไปกว่าครึ่งกิโล ฉะนั้นโอกาสจะได้ภาพสวยๆเป็นไปไม่ได้เลย หลังจากวันนั้นผมก็ครุ่นคิดหาวิธีที่จะเข้าไปเก็บภาพหลากหลายวิธี เคยนั่งเรือยนต์แต่ก็เข้าใกล้ไม่ได้เลย หรืออาจจะลองหาตำแหน่งที่นกเกาะแน่ๆของหนองหลวง ซึ่งดูแล้วไม่ง่ายเลยยิ่งหนองหลวงเป็นหนองที่ไม่ค่อยมีต้นไม้แห้งหรือกิ่งที่นกควรจะเกาะอยู่เท่าไหร่ ผมจึงคิดว่าที่หนองบงคายนี่แหละน่าจะง่ายกว่าในการถ่ายภาพเหยี่ยวชนิดนี้
ในทีสุดผมก็ตัดสินใจได้ว่าผมจะใช้วิธีที่มีโอกาสจะเข้าใกล้นกได้มากที่สุดเท่าที่นกจะไว้วางใจ แต่ก็ถือว่าเสี่ยงที่สุดเหมือนกันที่จะปฏิบัติ นั่นก็คือแจวเรือพายไปถ่ายเหยี่ยวออสเปร
หลังจากที่รู้ว่าเหยี่่ยวเกาะตรงกิ่งไหนค่อนข้างแน่นอนแล้ว วันหยุดคริสต์มาสของที่ทำงาน เป็นวันที่เหมาะที่สุดเนื่องจากมีเวลาว่างค่อนข้างมาก ผมจึงไปหนองบงคายอีกครั้ง ครั้งนี้เพื่อเก็บภาพเหยี่ยวออสเปรโดยเฉพาะ ราวเกือบบ่ายสองผมก็ยังหาพาหนะไม่ได้ จนคิดว่าวันนี้คงไม่ได้แล้ว แต่ก่อนกลับก็มีชาวบ้านคนหนึ่งรู้ว่าผมต้องการเรือแจว เขาก็ได้อนุญาตให้ผมใช้เรือแจวของเขาได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องนำเรือกลับเข้าฝั่งก่อนสี่โมงเย็นเพราะเขาต้องใช้เรือแจวไปดักปลาตอนเย็น
อย่างที่ทราบว่าเรือแจวนั้นลำไม่ใหญ่มากนัก การที่คนๆหนึ่งจะแจวเรือนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่าประสพการณ์หนึ่งครั้งที่ผมเคยแจวเรือพายเมื่อตอนอายุราว 15 ปีหรือกว่าครึ่งชีวิตผมแล้วคงพอช่วยได้ !!
บ่ายสองครึ่งหลังจากชาวบ้านได้ไปส่งผมที่เรือซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งห่างจากเกาะเป้าหมายราวหนึ่งกิโลเมตรแล้ว ผมก็ขนสัมภาระในการเก็บภาพประกอบด้วยกล้องเลนส์ ขาตั้งกล้อง บังไพรที่ผมคิดว่าต้องได้ใช้แน่ไปด้วย พร้อมน้ำดื่มอีกสักขวด แต่พลันที่ก้าวเท้าซ้ายขึ้นเหยียบท้องเรือก็เล่นเอาใจแทบตกตาตุ่ม เพราะเรือเอียงกะเท่เร่ทำท่าจะคว่ำไม่คว่ำแหล่ ในใจคิดว่านี่ถ้าคว่ำกลางบึง ผมคงหมดไปเกือบแสนเลยทีเดียว แต่ผมก็ประคับประคองจนขึ้นนั่งบนเรือได้ แม้จะดูเงอะงะงุ่มง่ามเต็มที
แดดร้อนจัดตอนบ่ายสองแต่ด้วยใจที่มุ่งมั่นเหลือเกินก็บ่ยั่น เริ่มแจวเรือออกจากฝั่งมุ่งไปยังเกาะกลางบึง แจวไป คัดไป ซ้ายทีขวาที บางครั้งเรือวกกลับวนรอบตัวเองไปหนึ่งรอบก็มี เล่นเอาเหงื่อตก แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังยกกล้องและเลนส์ถ่ายนกกระสาแดงระหว่างทางได้ ถ่ายไปเรือก็เอนไปสนุกดีเหมือนกันแหะ
เวลาผ่านไปราวครึ่งชั่วโมงผมก็เข้าใกล้เกาะกลางมากกว่าห่างจากฝั่ง เหยี่ยวยังเกาะกิ่งไม้ไผ่แห้งๆที่เดิม พยายามที่จะเบี่ยงหัวเรือให้เบนออกจากตำแหน่งที่นกเกาะเผื่อไม่ให้เหยี่ยวกังวลกับเรามาก แต่สายลมที่พัดแรงกลางบึงก็ทำให้กระแสน้ำตีเรือเราหันหัวเข้าหาเหยี่ยวอยู่ดี เล่นเอาล่อกับกระแสน้ำเหงื่อตกไปพักใหญ่ จนสุดท้ายผมก็เข้าใกล้เหยี่ยวออสเปรได้พอสมควรที่จะเก็บภาพได้ จึงหยุดแจวแล้วปล่อยให้เรือแล่นไปช้าๆนิ่งๆ มือซ้ายยกเลนส์มือขวาเหนี่ยวชัตเตอร์ แม้เรือจะเอียงจนทำท่าว่าจะคว่ำถึงขั้นต้องเลิกถ่ายเป็นช่วงๆ แต่ผมก็ได้ภาพที่ดีสุดเท่าที่เคยถ่ายเหยี่ยวชนิดนี้แล้ว แม้จะเป็นภาพกว้างๆก็ตาม
หลังจากได้ภาพชุดแรก ผมก็แจวเรือขยับเข้าใกล้อีก เนื่องจากเข้าใกล้เกาะกลางบึงแล้วจึงมีผักตบชะวาลอยขวางลำเรือเป็นหย่อมๆ ผมต้องแจวเรือหลบไปด้วย ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวพอสมควร
พอเขัาใกล้มากจนคิดว่าได้รูปดีแน่ๆแล้วก็ยกกล้องขึ้นพร้อมจะกดชัตเตอร์อีกครั้ง แต่คราวนี้เมื่อจะกดชัตเตอร์เหยี่ยวก็โผออกจากกิ่งไผ่นั้นซะแล้ว
ผมพยายามองหาตำแหน่งที่จะซุ่มรอเหยี่ยว เพราะคาดว่ายังไงเหยี่ยวก็ต้องกลับมาเกาะกิ่งเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหยี่ยวสายตาดีมุมที่จะซุ่มเลยต้องมิดชิดมากๆ เลยตัดสินใจดันเรือเข้าหาฝั่งซึ่งแน่นอนต้องดันหัวเรือแหวกแพผักตบชวาที่ขึ้นหนาเหลือเกิน เกิอบๆยี่สิบนาทีผมจึงดันเรือแจวผ่านแพผักตบชวาแค่สิบเมตรได้
พอได้มุมเหมาะๆก็กลางบังไพรคล่อมบนเรือแจวที่ลอยอยู่ในน้ำอีกที ขาตั้งกล้องปักลงไปในน้ำซึ่งไม่ลึกมากเพราะอยู่เกือบชิดฝั่ง ได้ระยะพอสมควร ต้องนั่งนิ่งกว่าการนั่งบังไพรปกติ เพราะถ้าขยับตัวแม้แต่นิดเีดีียว เรือแจวก็จะแกว่งไปมาอีกหลายนาทีจึงจะกลับมานิ่งเหมือนเดิม จากนั้นก็รอ พลางก็คิดในใจว่านี่น่าจะเป็นการกางบังไพรที่ทุลักทุเลและบ้าบิ่นเอามากๆทีเดียว
มองนาฬิกาบนข้อมือเวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง ก็บ่ายสามโมงกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววที่เหยี่ยวออสเปรตัวนั้จะกลับมาเกาะอีก คิดว่าเวลาคงยังน้อยไปที่นกจะวนกลับมาอีกรอบ แต่ผมก็ใช้เวลาหมดไปเสียแล้ว เลยจำต้องแจวเรือพายกลับขึ้นฝั่ง ซึ่งแน่นอนผมก็ต้องแจวมั่งคัดท้ายเรือมั่งไม่ต่างขามา
จนที่สุด ก็แจวมาถึงฝั่งบริเวณที่จอดเรือทันเวลาสี่โมงเย็นพอดี
หลังจากนั้นผมก็ยังไม่มีเวลาจะกลับไปดูเหยี่ยวออสเปรที่หนองบงคายอีก จนกระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ผมมีโอกาสไปดูนกที่เชียงแสนอีกครั้ง ขากลับผมและเพื่อนอีกคนได้ตัดสินใจจะไปดูเป็ดเปียหน้าเขียวที่มาลงที่หนองบงคายพอดี
เรามีเวลาไม่มากนัก และคราวนี้เราใช้เรือยนต์ของทางเขตฯเป็นพาหนะ ไปกันสองคนพร้อมอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม (และหนักกว่าเดิม) ระหว่างเรือยนต์แล่นเกือบจะถึงเกาะกลางบึง ผมก็ส่องกล้องสองตาเห็นเหยี่ยวออสเปรตัวเดิมเกาะกิ่งไผ่แห้งที่เดิมอีก
คราวนี้เลยคิดในใจว่าน่าจะเก็บภาพได้ดีกว่า เพราะระยะเลนส์ 500 mm น่าจะไม่ต้องเข้าใกล้มาก พี่หนุ่มคนขับเรือก็ดับเครื่องตั้งแต่สองร้อยเมตรตามคำขอของผม เรือยนต์ค่อยๆแล่นเข้าหาเหยี่ยวอย่างช้าๆ พร้อมกับเสียงชัตเตอร์ของเราที่ดังเป็นระยะๆ นานทีเดียวจนเรือเข้าใกล้ในระยะที่ภาพเต็มเฟรม เหยี่ยวออสเปรตัวนั้นจึงโผบินออกจากกิ่งไผ่ ผมยังได้ภาพบินมาด้วยหนึ่งภาพแต่ก็ไม่ชัดเท่าไหร่
เราไม่เจอเป็ดเปียหน้าเขียวหายากตัวนั้น ซึ่งคงต้องหาเวลากลับมาดูอีกครั้ง แต่ผมก็คิดว่าไม่เสียเที่ยวสักเท่าไหร่ เพราะยังเก็บภาพเหยี่ยวออสเปรได้ในระยะแบบไม่ต้องออกแรงแจวเรือเพื่อถ่ายซ่อมกันอีก แถมยังเป็นนกใหม่ของเพื่อนด้วย
แม้ว่าจะเป็นนกที่หาไม่ยาก หรือบางสถานการณ์บางที่จะถ่ายภาพได้ไม่ยากมาก เหมือนที่ผมถ่ายภาพบนเรือยนต์ได้ไม่ยากอย่างที่คิด แต่การแจวเรือพายไปถ่ายเหยี่ยวออสเปรครั้งนั้นก็เป็นประสพการณ์ที่น่าจดจำของผมไปอีกนานเลยทีเดียว
เข้ามาเจิมบล๊อกใหม่ครับหมอหลุยส์ ดีใจครับที่ได้เห็นบล๊อกคนไทยเพิ่มใน Blogspot แล้วจะตามมาอ่านอีกบ่อยๆเลยนะครับ
ตอบลบลองๆเขียนดูครับ ไม่อยากจะบอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก Blog ของต้นนั่นแหละ แถมยังเป็นคนแรกที่เข้ามาดู Blog ของเราด้วย ผิดถูกยังไงช่วยคอมเมนท์หน่อยนะ ขอบคุณครับ
ตอบลบ